ขั้นตอนและวิธีการศึกษาโครงการ
สรุปวิธีการศึกษาในหัวข้อต่างๆตามขอบเขตงาน
1.การทบทวนการศึกษาและแผนพัฒนาที่เกี่ยวข้อง
(1) ทบทวนแผนยุทธศาสตร์และนโยบาย แผนยุทธศาสตร์ชาติ แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ แผนแม่บทภายใต้ยุทธศาสตร์ชาติ แผนปฏิบัติการด้านคมนาคม แผนปฏิบัติราชการของกรมทางหลวง แผนพัฒนาระดับภาคและจังหวัด แผนพัฒนาผังเมือง รวมทั้งนโยบายและแผนงานโครงการพัฒนาด้านคมนาคมของหน่วยงานอื่นที่เกี่ยวข้อง
(2) ทบทวนการศึกษาที่เกี่ยวข้อง ศึกษา รวบรวม และทบทวนข้อมูลแผนงานหรือผลการศึกษาที่เกี่ยวข้อง รวมถึงโครงการการพัฒนาทางหลวงแนวใหม่ที่มีอยู่ในปัจจุบันและอนาคต
2.การพิจารณาหลักเกณฑ์และการคัดเลือกโครงการ
(1) เสนอหลักเกณฑ์ที่ใช้คัดเลือกโครงการที่เหมาะสมและมีศักยภาพในการพัฒนาเป็นโครงข่ายทางหลวงแนวใหม่
(2) จัดทำการคัดเลือกโครงการที่เหมาะสมจากทั่วทั้งประเทศเพื่อพัฒนาเป็นทางหลวงแนวใหม่ โดยพิจารณาถึงสภาพปัจจุบันของโครงข่าย ความจำเป็น ข้อจำกัดต่าง ๆ จะต้องคัดเลือกโครงการอย่างน้อย 20 โครงการ และระยะทางรวมต้องไม่น้อยกว่า 300 กิโลเมตร
3.การศึกษาทางด้านเศรษฐกิจและสังคม
(1) ศึกษา สำรวจ และวิเคราะห์ข้อมูลด้านเศรษฐกิจและสังคมของพื้นที่ที่จะต้องทำการศึกษา ในพื้นที่อิทธิพลของโครงการ
(2) ศึกษาและวิเคราะห์แนวโน้มการเปลี่ยนแปลงสภาพทางเศรษฐกิจ สังคม รวมทั้งการเปลี่ยนแปลงอื่นที่จะมีผลต่อปริมาณการจราจรในอนาคต
4. การศึกษาด้านการจราจรและขนส่ง
(1) รวบรวมข้อมูลปริมาณจราจรของสำนักอำนวยความปลอดภัย กรมทางหลวง อย่างน้อย10 ปีย้อนหลัง และสำรวจปริมาณจราจรเพิ่มเติม ประกอบด้วย การสำรวจปริมาณจราจรบนช่วงถนนการสำรวจจุดต้นทาง – ปลายทางการเดินทาง
(2) ศึกษาและจัดทำแบบจำลองด้านการจราจรที่คาดการณ์ปริมาณจราจรที่ต้องการใช้ทางหลวงแนวใหม่และคาดการณ์ปริมาณจราจรบนโครงข่ายที่สำคัญ ในแต่ละพื้นที่โครงการที่ทำการศึกษา ตลอดอายุโครงการ
5. การศึกษาด้านวิศวกรรม
(1) กำหนดแนวเส้นทางที่เหมาะสมเบื้องต้น โดยจัดเตรียมแผนที่หรือภาพถ่ายทางอากาศครอบคลุมพื้นที่ทั้งหมดในแต่ละพื้นที่โครงการที่ทำการศึกษา และจัดหาแผนที่แสดงแนวเส้นทางที่มีความเหมาะสมเบื้องต้น ที่มีความละเอียดและมีมาตราส่วน 1:4,000 รวมทั้ง กำหนดแนวเส้นทาง ความยาวเส้นทาง หน้าตัดถนน และโครงสร้างสะพานข้ามลำน้ำ และองค์ประกอบอื่น ๆ
(2) สำรวจและจัดทำภาพถ่ายทางอากาศ ด้วยอากาศยานไร้คนขับ (Drone) ตลอดแนวเส้นทางโครงการ
(3) จัดทำแบบแนวคิดเบื้องต้น (Conceptual Design) ในแต่ละพื้นที่โครงการที่ทำการศึกษา เพื่อนำไปใช้ในการวิเคราะห์ความคุ้มค่าของการก่อสร้างทางหลวงแนวใหม่
(4) ประมาณค่าเวนคืนที่ดินเบื้องต้น ค่าก่อสร้างเบื้องต้น และค่าบำรุงรักษาเบื้องต้น ตลอดจนค่าใช้จ่ายอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้องกับการดำเนินโครงการด้วยวิธีการที่เหมาะสม
6. การศึกษาด้านสิ่งแวดล้อมเบื้องต้น
(1) จัดทำฐานข้อมูลที่ได้จากการรวบรวมไว้อย่างเป็นระบบ
(2) รวบรวมข้อมูลสภาพสิ่งแวดล้อมในปัจจุบัน ในพื้นที่โครงการที่ทำการคัดเลือกแล้ว
(3) ดำเนินการประเมินผลกระทบในเบื้องต้นโดยวิธี Checklist
(4) เสนอแนะมาตรการป้องกัน แก้ไข และลดผลกระทบสิ่งแวดล้อมเบื้องต้น
7. การมีส่วนร่วมของประชาชน
(1) เสนอแผนการดำเนินงานการเผยแพร่ข้อมูลโครงการ
(2) จัดทำการเผยแพร่ข้อมูลผ่านสื่อ และจัดทำ Website เพื่อเผยแพร่ข้อมูลของงานศึกษาอย่างต่อเนื่อง
(3) จัดให้มีการประชุมเพื่อนำเสนอรายละเอียดโครงการ ได้แก่ การประชุมปฐมนิเทศโครงการและการประชุมเชิงปฏิบัติการ (Workshop) จัดให้มีเจ้าหน้าที่ลงพื้นที่โครงการเพื่อรับทราบข้อคิดเห็นและข้อมูลต่าง ๆ ที่จำเป็นกับการพัฒนาโครงการ (ประชุมกลุ่มย่อย) โครงการละ 2 ครั้ง และการปัจฉิมนิเทศโครงการ
(4) จัดคณะบุคลากรหลัก ไปนำเสนอ ชี้แจง และรับฟังข้อมูลจากจากกลุ่มเป้าหมาย
(5) จัดทำเอกสารประกอบการประชุมและสิ่งพิมพ์ที่จะนำไปเผยแพร่แก่กลุ่มเป้าหมาย
(6) รวบรวมข้อคิดเห็นและข้อเสนอแนะต่าง ๆ เพื่อนำไปใช้ประโยชน์ในกิจกรรมของการศึกษาด้านต่าง ๆ ของโครงการ
8.การศึกษาวิเคราะห์โครงการด้านเศรษฐกิจ
(1) ประเมินเงินลงทุนหรือค่าใช้จ่ายต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องกับโครงการ
(2) การวิเคราะห์ค่าใช้จ่ายของผู้ใช้ทาง (Road User Cost : RUC)
(3) การประเมินผลประโยชน์ของโครงการ
(4) การวิเคราะห์ความคุ้มค่าด้านเศรษฐกิจ
9. การจัดทำแผนพัฒนาทางหลวงแนวใหม่
(1) ศึกษาวิเคราะห์และจัดลำดับความสำคัญของโครงการตามแผนพัฒนาทางหลวงแนวใหม่โดยทบทวนแนวคิดและหลักการในการจัดลำดับความสำคัญของโครงการต่าง ๆ ที่ผ่านมา และเสนอแนะแนวทางการจัดลำดับความสำคัญที่มีความชัดเจน เหมาะสม สอดคล้องกับยุทธศาสตร์การพัฒนาในด้านต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้อง
(2) จัดทำแผนพัฒนาทางหลวงแนวใหม่เพื่อสนับสนุนการเชื่อมโยงโครงข่ายคมนาคมและระบบโลจิสติกส์ระยะ 20 ปี โดยแบ่งกลุ่มการพัฒนาเป็นระยะสั้น ระยะกลาง และระยะยาว